top of page
รูปภาพนักเขียนพญ. ฐิติพรรณ ชยวงศ์รุ่งเรือง (หมอชะเอม)

เจาะลึก 6 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยในผู้หญิง

อัปเดตเมื่อ 28 มี.ค.


รู้จักโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้หญิง

การมีเพศสัมพันธ์ หรือเซ็กส์ (Sex) เมื่อถึงวัยเจริญพันธ์ุ เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกาย ไม่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร หรือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาว ๆ ทุกคนก็ควรที่จะศึกษาเกี่ยวกับวิธีการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และวิธีรับมือกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ก่อน


เพื่อให้สาว ๆ สามารถดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม แฮปปี้เบิร์ธคลินิกจะพาไปรู้จักกับ 6 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้หญิง ที่พบได้บ่อย ๆ ตั้งแต่สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา จะมีโรคอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลยค่ะ


บทความนี้ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ฐิติพรรณ ​ชยวงศ์รุ่งเรือง (คุณหมอชะเอม)


โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คืออะไร?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexual-Transmitted disease: STDs) หรือที่เรียกกันว่า “กามโรค” คือ โรคที่เกิดจากการติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรค หรือคนติดเชื้ออยู่ ไม่ว่าจะเป็น ทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนัก นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ รวมถึงการให้เลือด ถ่ายโอนเลือด หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกันด้วย


โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีอะไรบ้าง?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย ๆ มีดังนี้

  • โรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)

  • โรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HIV) และโรคเอดส์ (AIDS)

  • โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) และโรคหนองในเทียม (Chlamydia infection)

  • โรคหูดหงอนไก่ (Condyloma acuminata)

  • โรคซิฟิลิส (Syphilis)

  • โรคเริมที่อวัยวะเพศ (Genital Herpes)

  • โรคแผลริมอ่อน (Chancroid)

  • โรคตัวโลน (Crab Louse)

  • โรคฝีมะม่วง (Lymphogranuloma venereum: LGV)


ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่

  • ผู้ที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อย ๆ และ/หรือ มีคู่นอนหลายคน

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย

  • ผู้ที่ใช้สารเสพติด

  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในอดีต


รวม 6 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยในผู้หญิง


เพื่อให้สาว ๆ สามารถรับมือกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างเหมาะสม แฮปปี้เบิร์ธคลินิก จะพาไปรู้จักกับ 6 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้หญิง ที่พบบ่อย แต่ละโรคจะมีสาเหตุ อาการ และวิธีรักษาอย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ



 รวม 6 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้หญิง ที่พบบ่อย

1. โรคติดเชื้อไวรัส HPV

การติดเชื้อไวรัส HPV หรือเชื้อไวรัสแปปิโลมา เป็นหนึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงเลย โดยเชื้อไวรัสชนิดจะมีมากกว่า 100 สายพันธ์ุ มีทั้งสายพันธ์ุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก อย่าง 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58 และสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ อย่าง 6 และ 11 เป็นต้น

การติดเชื้อไวรัส HPV นั้น จะมีสาเหตุหลักๆ มาจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งไม่สามารถป้องกันได้ด้วยการสวมใส่ถุงยางอนามัย วิธีป้องกันที่ดีที่สุดจึงเป็นการฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่เด็ก ๆ หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส โดยจะสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี ขึ้นไป 

สำหรับวัคซีน HPV จะแบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่ 


  • วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ สามารถป้องกันสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้

  • วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ สามารถป้องกันสายพันธุ์  16 และ 18 ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และสายพันธุ์ 6 และ 11 ที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่

  • วัคซีนชนิด 9 สายพันธ์ุ (ครอบคลุมมากที่สุด) สามารถป้องกันสายพันธุ์  16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และสายพันธุ์ 6 และ 11 ที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะฉีดวัคซีน HPV แล้ว สาว ๆ ก็ยังคงมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกอยู่ เพื่อการดูแลสุขภาพภายในอย่างเหมาะสม จึงแนะนำให้เข้ารับการตรวจสุขภาพและตรวจภายในเป็นประจำทุกปีค่ะ


2. โรคหนองในผู้หญิง

โรคหนองใน จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae และโรคหนองในเทียม (Chlamydia) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis ซึ่งทั้งสองโรคนี้จะลักษณะอาการคล้ายกัน แต่โรคหนองในแท้จะมีอาการรุนแรงกว่าค่ะ

สำหรับอาการของโรคหนองในที่พบได้บ่อย ๆ ในผู้หญิง มีดังนี้


  • มีตกขาวผิดปกติและมีกลิ่นเหม็น

  • รู้สึกแสบ หรือเจ็บขณะปัสสาวะ หรือขับถ่าย

  • รู้สึกคันและแสบร้อนบริเวณรอบ ๆ อวัยวะเพศ

  • รู้สึกเจ็บท้องน้อยเวลามีประจำเดือน หรือมีเพศสัมพันธ์

  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

  • มีสารคัดหลั่งออกมาทางทวารหนัก


อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยบางรายที่ไม่มีอาการแสดงใด ๆ ถ้าหากสาว ๆ อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็ควรที่จะเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ เพื่อที่จะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ปล่อยให้โรคเข้าสู่ระยะท้าย ๆ และทำให้เกิดอาการรุนแรง หรือภาวะแทรกซ้อนอย่างการติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตร หรือคลอดก่อนกำหนดตามมาค่ะ

ในส่วนของวิธีการรักษาโรคหนองในแท้ และโรคหนองในเทียม จะมีวิธีเหมือนกัน ก็คือการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคค่ะ ส่วนจะต้องใช้ปริมาณยาเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่ดุลยพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษาค่ะ


3. โรคเริมที่อวัยวะเพศหญิง

โรคเริมที่อวัยวะเพศหญิงจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HSV-1 หรือ HSV-2 โดยจะทำให้เกิดเป็นตุ่มพองเล็ก ๆ หรือตุ่มน้ำใส ๆ ที่บริเวณอวัยวะเพศหญิง ซึ่งในบางรายอาจลุกลามไปยังบริเวณข้างเคียงอย่างต้นขา ทวารหนัก หรือก้นก็ได้ค่ะ 


นอกจากนี้ยังทำให้มีอาการคัน หรือชาบริเวณที่ตุ่มขึ้น มีตกขาวผิดปกติ และมีอาการอื่น ๆ อย่าง ปวดหลัง ปวดศีรษะ มีไข้ หรือปวดแสบขณะปัสสาวะได้ค่ะ


สำหรับวิธีรักษา คุณหมอจะจ่ายยาต้านไวรัสอย่าง Acyclovir (Zovirax®), Famciclovir หรือ Valcyclovir ซึ่งจะไม่สามารถซื้อยามารับประทานได้ด้วยตัวเองนะคะ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ค่ะ


4. โรคหูดหงอนไก่ผู้หญิง

โรคหูดหงอนไก่ผู้หญิง เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV โดนสาเหตุหลัก ๆ จะมาจากสายพันธุ์ 6 และ 11 ค่ะ โดยโรคนี้จะแสดงอาการหลังจากที่ได้รับเชื้อไปแล้วตั้งแต่ 1 เดือน ไปจนถึง 2 ปี มีลักษณะอาการดังนี้ค่ะ

  • มีก้อน หรือติ่งเนื้อยื่นออกมาจากผิว โดยจะมีสีคล้ายสีของผิวหนัง กระจายออกไปทางด้านบนคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ

  • ก้อน หรือติ่งเนื้อจะสามารถพบได้ทั้งในบริเวณปากมดลูก ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ และรูทวารหนัก

  • มีอาการคันเล็กน้อย ถึงคันมาก

  • มีก้อนโตมากจนอุดกั้นช่องคลอด

  • มีเลือดออกจากก้อน

  • มีอาการตกขาวผิดปกติ

  • มีอาการแสบร้อนบริเวณอวัยวะเพศ


สำหรับวิธีรักษาโรคหูดหงอนไก่ ทั้งขนาดใหญ่และเล็กจะรักษาโดยการจี้หูดด้วยยา สัปดาห์ละ 1 ครั้ง จนกว่ารอยโรคจะหายไปค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะต้องทำประมาณ 4-5 ครั้ง พร้อมกับแนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV เพื่อลดความรุนแรงของโรค และป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ยังไม่ติดค่ะ


5. โรคซิฟิลิส ผู้หญิง

โรคซิฟิลิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum จัดเป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีความอันตรายอย่างมาก เพราะถ้าหากเป็นแล้ว ไม่ทำการรักษา จากที่แสดงอาการอยู่ในระยะที่ 1 และ 2 ก็จะเข้าสู่ระยะแฝง ทำให้ผู้ที่เป็นโรคนี้ไม่รู้ตัวว่าเป็น กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เข้าสู่ระยะสุดท้ายที่มีภาวะแทรกซ้อนมากมายแล้วค่ะ


ลักษณะอาการของโรคซิฟิลิส 4 ระยะ

  • ระยะที่ 1 (ระยะเป็นแผล) จะทำให้เกิดแผลริมแข็ง โดยอาจพบที่บริเวณช่องคลอด ทวารหนัก หรือในปากก็ได้ โดยจะมีลักษณะเป็นแผลเล็ก ๆ สีแดง และมีขอบนูนแข็ง

  • ระยะที่ 2 (ระยะออกดอก) จะแสดงอาการหลังจากที่มีแผลริมแข็งไปแล้ว 1 เดือน หรือเร็วกว่านั้น โดยจะทำให้เกิดผื่นขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้า ในบางรายอาจมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ หรือต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วยได้

  • ระยะแฝง เป็นระยะที่อาการทุกอย่างจะหายไปเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก่อน แต่เชื้อซิฟิลิสจะยังแฝงอยู่ในร่างกายและดำเนินโรคต่อไปโดยที่ไม่แสดงอาการใด ๆ

  • ระยะสุดท้าย อาจแสดงอาการภายในไม่กี่ปี ไปจนถึง 10-20 ปีเลยก็ได้ค่ะ โดยจะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่สมอง ระบบประสาท ตา หัวใจ เส้นเลือด ตับ กระดูกและข้อต่อ ซึ่งจะส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ การมองเห็นลดลง มีภาวะสมองเสื่อม ตาบอด หูหนวก อัมพาต ชัก และทำให้เสียชีวิตได้ค่ะ


ถึงแม้จะดูน่ากลัว แต่โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าหากสาว ๆ มีอาการอยู่ในระยะที่ 1 หรือระยะที่ 2 สามารถเข้ามาตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสด้วยการตรวจเลือดได้เลย ถ้าหากวินิจฉัยแล้วว่าเป็นจริง ๆ คุณหมอจะทำการรักษาด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะขนาดสูงเพื่อยับยั้งการแพร่เชื้อ โดยจะต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม เว้นระยะห่างเข็มละ 1 สัปดาห์ค่ะ


6. โรคติดเชื้อไวรัส HIV และโรคเอดส์ (AIDS)


เป็นอีกหนึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย โดยการติดเชื้อไวรัส HIV ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เชื้อไวรัสตัวนี้จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ทำให้ภูมิคุ้มกันของโรคต่ำลง และเพิ่มโอกาสเกิดการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ ตามมา เช่น วัณโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือปอดบวม ซึ่งจะทำให้มีการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป และอาจทำให้เสียชีวิตได้ เราเรียกภาวะภูมิคุ้มกันต่ำและมีโรคแทรกซ้อนนี้ว่า “โรคเอดส์”


ลักษณะอาการของการติดเชื้อ HIV

  • ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อ จะทำให้มีอาการไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำหนักตัวลดลง และมีฝ้าขาวในช่องปาก โดยจะเป็นประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วจะหายได้เองค่ะ

  • ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ที่ติดเชื้อจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเหมือนคนทั่วไป แต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันได้

  • ระยะติดเชื้อที่มีอาการ เป็นระยะที่เชื้อไวรัส HIV เข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันโรค และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา ซึ่งจะมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยอย่าง โรคเชื้อราที่เล็บ แผลในช่องปาก อาการปานกลางที่ทำให้เป็นเริมที่อวัยวะเพศ งูสวัด หรือโรคเชื้อราในช่องคลอด ไปจนถึงระยะป่วยเป็นเอดส์


ในปัจจุบันการติดเชื้อไวรัส HIV ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาด้วยการรับประทานยาต้านไวรัส เพื่อยับยั้งการแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส ซึ่งจะช่วยชะลอการเกิดระยะติดเชื้อที่มีอาการได้ค่ะ โดยอาจชะลอได้นาน 10-15 ปีเลย


หญิงรักหญิง มีโอกาสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ไหม?


หญิงรักหญิงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ไหม

หญิงรักหญิงก็สามารถเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ค่ะ โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ 

  • การเป็นโรคติดเชื้อระหว่างผู้หญิงด้วยกันเอง ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้ผ่านการสัมผัสเป็นหลัก เช่น หูดหงอนไก่ โรคเริมที่อวัยวะเพศ หรือตกขาวมีกลิ่นเหม็น เป็นต้น

  • การเป็นโรคที่เกิดจากอดีตคู่นอนที่เป็นชาย เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม หรือซิฟิลิส เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันก็มีการใช้อุปกรณ์ทางเพศเสริม (Sex toy) ซึ่งเปรียบเสมือนกับการใช้องคชาตจริง ๆ ถ้าหากมีการใช้งานร่วมกันหลายคน และไม่ทำความสะอาดให้ดี ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เหมือนกับคู่รักชายหญิงค่ะ


เมื่อสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ควรทำอย่างไรดี?


ถ้าสาว ๆ พบว่าตนเองมีอาการที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือพบว่าตนเองมีความเสี่ยงในการเป็นโรค เช่น มีพฤติกรรมชอบเปลี่ยนคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน แนะนำให้งดการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่น หลังจากนั้นให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมค่ะ


ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้หญิง โดยหมอผู้หญิง ที่แฮปปี้เบิร์ธคลินิก



ค่าบริการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้หญิง

ค่าบริการตรวจ STD รวมค่าบริการตรวจภายใน และค่าบริการคลินิกแล้ว (ราคา ณ มกราคม 2567)


แฮปปี้เบิร์ธคลินิก เราให้บริการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ดูแลโดยคุณหมอผู้หญิงและเจ้าหน้าที่ผู้หญิงทุกขั้นตอน คลินิกของเรามีความเป็นส่วนตัว ผู้คนไม่พลุกพล่าน ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการนัดคิวล่วงหน้า ทำให้ไม่มีคนมานั่งรอเยอะ ๆ ที่คลินิกค่ะ หากสนใจ สามารถจองคิวออนไลน์ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081-442-9355 (ตามเวลาทำการคลินิก) และเฟสบุ๊กเพจ happybirth กับหมอชะเอม ได้เลย สาว ๆ คนไหนที่มีความกังวลอยู่ ไม่ต้องเขินอายเลยค่ะ รับรองว่ามาตรวจที่แฮปปี้เบิร์ธคลินิก จะได้รับบริการที่สบายใจและเป็นส่วนตัวที่สุดแน่นอนค่ะ

bottom of page