ห่วงคุมกำเนิด หรือที่เรียกว่า “ห่วงอนามัย” เป็นวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพสูงพอ ๆ กับการฝังยาคุมบริเวณใต้แขน และมีประสิทธิภาพมากกว่าการฉีดยาคุม เหมาะสำหรับสาว ๆ ที่ต้องการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวเป็นระยะเวลานาน ๆ แต่มีข้อจำกัดในการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฝังค่ะ
สาว ๆ คนไหนที่สนใจใช้ห่วงอนามัย แต่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร มีข้อดี - ข้อเสียอย่างไร คลินิกสูตินรีเวชจะพาไปทำความรู้จักกับการคุมกำเนิดวิธีนี้อย่างเจาะลึก พร้อมแนะนำบริการใส่ห่วงคุมกำเนิดของเรา รับรองว่าอ่านจบแล้วจะเข้าใจการคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัยเป็นอย่างดีแน่นอนค่ะ
บทความนี้ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ฐิติพรรณ ชยวงศ์รุ่งเรือง (คุณหมอชะเอม)
ห่วงคุมกำเนิดคืออะไร?
ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine Device : IUD) คือ อุปกรณ์คุมกำเนิดขนาดเล็กที่ใส่เข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ โดยจะมีรูปร่างหลายแบบ หลายขนาด เช่น ตัวที (T) ตัวยู (U) และตัว (Y) ซึ่งคุณหมอจะเป็นผู้เลือกขนาดของห่วงอนามัยที่เหมาะสมกับสาว ๆ แต่ละคนเอง
ห่วงอนามัยนั้น เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงถึง 99% และอยู่ได้นาน 3 - 10 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของห่วงอนามัย ซึ่งสาว ๆ ไม่ต้องกังวลเลยว่าห่วงอนามัยจะเคลื่อนที่ แล้วหาไม่เจอ และทำให้เกิดอันตราย เพราะในแกนของห่วงอนามัยจะมีสารแบเรียมซัลเฟต (Barium Sulphate) อยู่ ซึ่งเป็นสารทึบรังสีที่ช่วยให้สามารถตรวจหาตำแหน่งของห่วงได้ด้วยการเอกซเรย์
ห่วงอนามัยสำหรับคุมกำเนิดมีกี่ชนิด?
ห่วงอนามัยสำหรับคุมกำเนิดจะแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1. ห่วงคุมเนิดชนิดไม่เคลือบสาร (Non-medicated IUD, Inert IUD)
เป็นห่วงคุมกำเนิดในยุคแรก ๆ ทำมาจาก Polyethylene ผสมกับ BaSO4 ให้ทึบแสงเพื่อให้หาเจอด้วยเครื่องเอกซเรย์ แต่ไม่มีอายุการใช้งานที่ชัดเจน โดยชนิดที่เรารู้จักกันดีจะมีชื่อว่า “Lippes loop” ในปัจจุบันไม่มีการใช้งานในไทยแล้ว เพราะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดน้อยกว่าชนิดที่สอง
2. ห่วงคุมเนิดชนิดเคลือบสาร (Medicated IUD)
เป็นห่วงกำเนิดที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง มีอายุการใช้งานที่ชัดเจน โดยห่วงอนามัยจะเคลือบสารที่สามารถเข้าไปยับยั้งกระบวนการตั้งครรภ์ได้ แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ห่วงคุมกำเนิดชนิดเคลือบสารทองแดง (Copper IUD) และห่วงคุมกำเนิดชนิดเคลือบฮอร์โมน ( Hormone-releasing IUD) ซึ่งเราจะไปเจาะลึกรายละเอียดในหัวข้อถัดไปค่ะ
ห่วงอนามัยคุมกำเนิดชนิดเคลือบสารมีกี่ประเภท?
ห่วงอนามัยคุมกำเนิดชนิดเคลือบสาร (IUD) ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มี 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
1. ห่วงอนามัยหุ้มสารทองแดง (ชนิดที่ไม่มีฮอร์โมน)
เป็นห่วงอนามัยที่ใช้สารทองแดงเป็นสารออกฤทธิ์คุมกำเนิด โดยสารจะอยู่ในรูปประจุ และถูกปล่อยออกมาจากห่วงทีละน้อย มีให้เลือก 2 แบบ ได้แก่ อายุการใช้งาน 5 ปี และอายุการใช้งาน 10 ปี โดยสิ่งที่ทำให้มีอายุการใช้งานต่างกันจะอยู่ที่ปริมาณพื้นผิวทองแดง หากห่วงมีพื้นที่ผิวทองแดงมาก จะสามารถอยู่ได้นานมากขึ้นตามไปด้วย
การใส่ห่วงอนามัยที่หุ้มสารทองแดงนั้น จะทำให้ระดับสารทองแดงในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ไม่ส่งผลเป็นอันตรายต่อร่างกาย และสามารถใช้คุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์ไม่พึงประสงค์ได้
*ค่าบริการใส่ห่วงอนามัยหุ้มสารทองแดง (ชนิดที่ไม่มีฮอร์โมน) ของแฮปปี้เบิร์ธคลินิก ราคา 7,200 บาท
2. ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมน
เป็นห่วงคุมกำเนิดที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยจะมีทั้งการเคลือบด้วยฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestins) และฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์เลียนแบบโพรเจสเตอโรน (Progesterone)
ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนนั้น จะสามารถคุมกำเนิดได้นาน 5 ปี ขึ้นอยู่กับจำนวนฮอร์โมน และมีจุดเด่นตรงที่สามารถใช้รักษาภาวะผิดปกติอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น มีประจำเดือนมากกว่าปกติ ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Adenomyosis) และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกด้วย
*ค่าบริการใส่ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมน ของแฮปปี้เบิร์ธคลินิก ราคา 11,000 บาท
กลไกการออกฤทธิ์ของห่วงอนามัยคุมกำเนิด
กลไกการทำงานของห่วงอนามัยแต่ละชนิด จะแตกต่างกันไป ดังนี้
กลไกการออกฤทธิ์ของห่วงอนามัยคุมกำเนิดชนิดหุ้มสารทองแดง
จะปล่อยสารทองแดงในรูปประจุที่เป็นพิษต่อตัวอสุจิและไข่ ทำให้ตัวอสุจิในโพรงมดลูกไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมสำหรับฝังตัวอ่อน แต่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
กลไกการออกฤทธิ์ของห่วงอนามัยคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมน
จะเข้าไปกดการเจริญเติบโตของเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้ไม่สามารถฝังตัวอ่อนได้ และทำให้มูกบริเวณปากมดลูกข้นเหนียว ทำให้อสุจิเคลื่อนไหวลำบาก แต่ไม่สามารถยับยั้งการตกไข่ได้ เพราะมีปริมาณฮอร์โมนไม่เพียงพอ
ปัจจัยในการพิจารณาเลือกใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิดชนิดเคลือบทองแดง หรือเคลือบฮอร์โมน
ห่วงอนามัยคุมกำเนิดชนิดเคลือบทองแดง จะใช้ในการป้องกันการตั้งครรภ์เพียงอย่างเดียวค่ะ มีจุดเด่นตรงที่มีอายุการใช้งานยาวนานสูงสุดถึง 10 ปีเลย จึงเหมาะกับสาว ๆ ที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องประจำเดือน หรือโรคทางนรีเวชอื่น ๆ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
ส่วนห่วงอนามัยคุมกำเนิดชนิดเคลือบฮอร์โมน จะมีจุดเด่นตรงที่ นอกจากจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยังสามารถใช้รักษาภาวะผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีประจำเดือนมากกว่าปกติ ปวดประจำเดือน เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ถ้าสาว ๆ มีเรื่องกังวลในส่วนนี้ ก็จะเหมาะกับห่วงคุมกำเนิดชนิดเคลือบฮอร์โมนมากกว่าค่ะ
ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดของห่วงอนามัย
ห่วงอนามัยมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดมากกว่า 99%
การใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิดเหมาะกับใคร?
การคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัย จะเหมาะสำหรับคนกลุ่มนี้ ได้แก่
ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดระยะยาว 2 - 3 ปีขึ้นไป และมีประสิทธิภาพสูง
คุณแม่ที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมลูก เพราะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณน้ำนม
ผู้ที่มีข้อจำกัดในการใช้ยาคุมกำเนิดแบบเม็ด การฉีดยาคุม หรือการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฝัง
ผู้ที่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน
ห่วงแบบมีฮอร์โมน อาจใช้ในการรักษาโรคนรีเวชบางโรคได้
การใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิดไม่เหมาะกับใคร?
การใส่ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง และห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมน ไม่เหมาะสำหรับคนกลุ่มนี้ ได้แก่
ผู้ที่สงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ หรือมีความเสี่ยงว่าจะตั้งครรภ์ ควรตรวจการตั้งครรภ์ให้เรียบร้อยก่อน
ผู้ที่แพ้ส่วนประกอบของห่วงอนามัย
ผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อในทางเดินระบบสืบพันธุ์ เช่น ปากมดลูกอักเสบ ช่องคลอดอักเสบ
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้ง่าย
ผู้ที่มีลักษณะโพรงมดลูกบิดเบี้ยวแต่กำเนิด จนทำให้ยากต่อการใส่ห่วงอนามัย
ผู้ที่เคยมีภาวะแท้งติดเชื้อ หรือภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบหลังคลอดภายในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง หรือเนื้องอกที่มดลูก หรือปากมดลูก
ผู้ที่มีภาวะเลือดออกจากโพรงมดลูกโดยไม่ทราบสาเหตุ
ข้อห้ามในการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด
มีข้อห้ามเพิ่มเติมสำหรับการใส่ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง ได้แก่
ผู้ที่เป็นโรควิลสัน (Wilson disease) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้มีการสะสมของทองแดงมากเกินไปที่อวัยวะสำคัญหลายแห่ง
มีข้อห้ามเพิ่มเติมสำหรับการใส่ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมน ได้แก่
ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม หรือโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่ไวต่อฮอร์โมนโพรเจสติน
ผู้ที่เป็นโรคเนื้องอก
ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งตับ และโรคตับชนิดเฉียบพลัน
สาว ๆ คนไหนที่ต้องการใส่ห่วงอนามัย แล้วไม่มั่นใจว่าตนเองจะอยู่ในกลุ่มคนเหล่านี้หรือเปล่า สามารถนัดหมายเข้ามาปรึกษาคุณหมอที่แฮปปี้เบิร์ธคลินิกก่อนได้ค่ะ หากคุณหมอพิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะกับการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้จริง ๆ ก็จะแนะนำวิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันและเหมาะสมกับคนไข้ที่สุดให้ค่ะ
เปรียบเทียบข้อดี - ข้อเสียของการใส่ห่วงคุมกำเนิด
การใส่ห่วงอนามัย มีข้อดี - ข้อเสีย ดังนี้
ข้อดีของการใส่ห่วงอนามัย
สามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ตามปกติทันทีเมื่อนำห่วงอนามัยออก ซึ่งจะแตกต่างจากการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉีดที่ต้องรออย่างน้อย 1 ปี ถึงจะกลับมาตั้งครรภ์ได้
เป็นวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวที่สามารถป้องกันได้ระยะยาว 3 - 10 ปี และมีประสิทธิภาพสูงมาก
ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายคุมกำเนิดในระยะยาว หากใส่ห่วงอนามัยจนครบอายุการทำงาน
มีผลข้างเคียงน้อย เพราะมีสารออกฤทธิ์ในเลือดต่ำ
ในกรณีที่ใช้ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง ไม่จำเป็นต้องกังวลถึงปฏิกิริยาระหว่างยา เพราะไม่มีส่วนผสมของฮอร์โมน
สามารถใช้ได้กับกลุ่มคนหลากหลาย ทั้งผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดระยะยาว คุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมลูก และสาว ๆ ที่มีน้ำหนักตัวมาก
ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ และโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้
ในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ สามารถเอาออกได้ทันที และไม่ต้องรอให้ยาหมดฤทธิ์
ถ้าเทียบกับการฝังเข็มยาคุม การใส่ห่วงนามัยจะสามารถใส่และถอดได้ง่ายกว่า ไม่ต้องผ่าตัด เป็นเพียงขั้นตอนคล้ายการตรวจภายในเท่านั้น
ข้อเสียของการใส่ห่วงอนามัย
การใส่และถอดห่วงอนามัยจะต้องทำคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น
ก่อนที่จะใส่ห่วงอนามัย สาว ๆ จำเป็นที่จะต้องตรวจภายในและตรวจมะเร็งปากมดลูกให้เรียบร้อยก่อน เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
อาจทำให้มีเลือดออกและเจ็บเล็กน้อย ขณะใส่และถอดห่วงอนามัย
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงจะทำให้ประจำเดือนออกมากและนานกว่าปกติ
ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนจะทำให้มีประจำเดือนน้อย หรือไม่มีประจำเดือน
การใส่ห่วงอนามัยอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบที่อุ้งเชิงกรานได้
สายไนลอนในช่องคลอดอาจรบกวนการมีเพศสัมพันธ์ในบางรายได้
ห่วงอนามัยไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงควรใส่ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ หรือมีคู่นอนหลายคน
ควรใส่ห่วงคุมกำเนิดช่วงเวลาใด?
สาว ๆ สามารถเข้ารับการใส่ห่วงอนามัยได้ในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
การเตรียมตัวก่อนใส่ห่วงคุมกำเนิด
การใส่ห่วงอนามัยไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ แต่จะต้องเข้าพบคุณหมอเฉพาะทางด้านสูตินรีแพทย์ เพื่อทำการตรวจคัดกรองความเสี่ยงต่าง ๆ และรับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวหลังใส่ห่วงอนามัยให้เรียบร้อยก่อน ถ้าหากคุณหมอประเมินแล้วว่าใส่ได้ ก็สามารถเข้ารับการใส่ได้ทันที
วิธีการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?
ขั้นตอนการใส่ห่วงอนามัยไม่ยุ่งยากเลย คุณหมอจะทำการฆ่าเชื้อบริเวณปากมดลูก แล้วทำการสอดห่วงอนามัยเข้าไปในโพรงมดลูกให้ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเสียวและปวดตรงท้องน้อยได้เล็กน้อย
หลังจากนั้นก็จะทำความสะอาดให้เรียบร้อย และให้นั่งพักสังเกตอาการประมาณ 10 - 15 นาที หากไม่มีอาการผิดปกติก็สามารถกลับบ้านได้เลย และจะนัดตรวจติดตามผลหลังใส่ 2 - 3 เดือน
สำหรับสาว ๆ คนไหนที่รู้สึกเขินอาย ไม่กล้าที่จะมาใส่ห่วงอนามัย ไม่ต้องเขินเลยค่ะ เพราะที่แฮปปี้เบิร์ธคลินิก เราให้บริการตรวจภายใน ตรวจมะเร็งปากมดลูก และใส่ห่วงอนามัย โดยคุณหมอผู้หญิงและเจ้าหน้าที่ผู้หญิงทุกขั้นตอน รับรองว่าสบายใจ และเป็นส่วนตัวที่สุดแน่นอนค่ะ
การปฏิบัติตัวหลังจากใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด
หลังจากใส่ห่วงอนามัยแล้ว สาว ๆ จะต้องงดมีเพศสัมพันธ์ 7 วันแรกหลังใส่ห่วง หรือหากมีเพศสัมพันธ์จะต้องคุมกำเนิดด้วยการใส่ถุงยางอนามัยก่อน และงดสวนล้างช่องคลอดหลังใส่ห่วง เพียงแค่ดูแลรักษาความสะอาดภายนอก และหมั่นตรวจดูว่าในช่องคลอดยังมีสายด้ายไนลอนอยู่ที่บริเวณปากมดลูกหรือเปล่า ก็เพียงพอแล้ว
การใส่ห่วงอนามัยนั้น จะทำให้มีตกขาวและประจำเดือนมามากกว่าปกติในช่วง 3 เดือนแรก หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดประจำเดือนมาก หรือปวดท้องน้อยหลังใส่ห่วงอนามัยไปได้ระยะหนึ่ง นั่นอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการถอดห่วงอนามัยออกทันที
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังใส่ห่วงคุมกำเนิด
แม้ว่าการใส่ห่วงอนามัยจะมีความปลอดภัยสูง และมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้น้อยมาก แต่ก็สามารถเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้เช่นกัน ดังนี้
มีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริบกะปรอย
ปวดประจำเดือนมากขึ้น หรือประจำเดือนมากกว่าปกติ
มีตกขาวมากกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากการมีสายห่วงอยู่ในช่องคลอด
เพิ่มเสี่ยงต่อการเกิดการอักเสบ หรือติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน ในกรณีที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือห่วงอนามัยแตกหักแล้วเอาชิ้นส่วนออกไม่หมด
ทำให้ปวดศีรษะ เป็นสิว อารมณ์แปรปรวน น้ำหนักตัวเพิ่ม มีภาวะขนดก หรือเจ็บคัดตึงเต้านม ในผู้ที่ใช้ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมน
ในกรณีที่ใส่กับคุณหมอที่ไม่มีความชำนาญ อาจทำให้เกิดมดลูกทะลุระหว่างใส่ห่วงได้ (พบได้น้อยมาก) แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอก่อนค่ะ
สามารถเอาห่วงคุมกำเนิดออกได้ตอนไหน?
สาว ๆ สามารถถอดห่วงอนามัยออกได้ทันทีที่ต้องการ ไม่ต้องผ่าตัด แต่สาว ๆ เอาออกเองไม่ได้นะคะ ต้องมาให้คุณหมอเอาออกให้ค่ะ
ใส่ห่วงคุมกำเนิด ราคาเท่าไร?
แฮปปี้เบิร์ธคลินิกให้บริการใส่ห่วงคุมกำเนิด 2 ชนิด คือ ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง (ชนิดที่ไม่มีฮอร์โมน) และห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมน มีอัตราค่าบริการดังนี้
ห่วงอนามัยชนิดไม่มีฮอร์โมน
Inara Cu 375 Sleek สามารถคุมกำเนิดได้ 5 ปี ราคา 7,200 บาท
Pregna T CU 380 A สามารถคุมกำเนิดได้ 10 ราคา 7,200 บาท
ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมน
Mirena สามารถคุมกำเนิดได้ 5 ปี ราคา 11,000 บาท
ถอดห่วงคุมกำเนิด ราคาเท่าไร?
แฮปปี้เบิร์ธคลินิกให้บริการถอดห่วงอนามัย ราคา 2,000 บาท รวมค่าบริการตรวจภายใน และค่าบริการคุณหมอ
ผลข้างเคียงจากการใส่ห่วงอนามัย อาการแบบไหนที่ควรไปพบคุณหมอ
หากหลังจากใส่ห่วงอนามัยแล้วมีอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที ได้แก่
ปวดท้องน้อยมากผิดปกติ
มีเลือดออกไหลมากผิดปกติ
คลำไม่เจอสายห่วงอนามัย
รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
เป็นไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
ห่วงอนามัยหลุดออกมาข้างนอก
ประจำเดือนไม่มา ประจำเดือนมากะปริดกะปรอย
ตอบทุกข้อสงสัยการใส่ห่วงคุมกำเนิด โดยคุณหมอชะเอม
สำหรับสาว ๆ ที่ยังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใส่ห่วงคุมกำเนิดอยู่ แฮปปี้เบิร์ธคลินิกได้รวมคำถามที่พบบ่อยมาให้แล้ว ทุกคำตอบถามโดยคุณหมอ จะน่าสนใจแค่ไหน ไปดูกันเลย
1. ใส่ห่วงคุมกำเนิดเจ็บไหม?
อาจทำให้รู้สึกเจ็บและมีเลือดออกเล็กน้อยในตอนที่ใส่ หรือเอาห่วงอนามัยออกค่ะ
2. ใส่ห่วงคุมกำเนิดทำให้อ้วนไหม?
การใส่ห่วงอนามัย ร่างกายจะได้รับฮอร์โมนโพรเจสติน หรือฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล ในระดับเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการคุมกำเนิดด้วยยา หรือการฉีด จึงไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการเผาผลาญที่ทำให้หิวง่ายขึ้น และไม่ทำให้อ้วนขึ้นแต่อย่างใด
3. ใส่ห่วงคุมกำเนิดมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม?
ควรงดการมีเพศสัมพันธ์หลังใส่ห่วงยางอนามัย 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็สามารถกลับมามีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติค่ะ
4. ใส่ห่วงคุมกำเนิดแล้วก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ใช่หรือไม่?
ถ้าหากใส่ห่วงคุมกำเนิดอย่างถูกต้องภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ห่วงอนามัยจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดมากกว่า 99%
5. เมื่อต้องการเอาห่วงคุมกำเนิดออก คุณหมอมักไม่เอาห่วงออกให้ จริงหรือไม่?
ไม่จริงแต่อย่างใด สำหรับสาว ๆ คนไหนที่ต้องการเอาห่วงอนามัยออก สามารถนัดหมายมาถอดห่วงอนามัยที่แฮปปี้เบิร์ธคลินิกได้เลย
6. ใส่ห่วงคุมกำเนิดแล้วทำให้เป็นหมันจริงหรือไม่?
ไม่จริง ห่วงคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิดชั่วคราว หลังจากที่ถอดห่วงออกแล้ว จะสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ทันที ซึ่งจะแตกต่างจากยาคุมกำเนิดที่อาจต้องรอประมาณ 1 ปี หรือมากกว่านั้น ถึงจะสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ค่ะ
7. ใส่ห่วงคุมกำเนิดแล้วทำให้มีตกขาวมากไหม?
อาจทำให้มีตกขาวมากกว่าปกติได้ค่ะ แต่ลักษณะควรเป็นเหมือนตกขาวปกติทั่วไป คือมีสีใส หรือสีค่อนข้างขาว ลื่น ๆ คล้ายไข่ขาว และไม่มีกลิ่นเหม็น ถ้าหากตกขาวมีสีที่เปลี่ยนไป หรือมีกลิ่นเหม็น แนะนำให้รีบมาพบคุณหมอค่ะ
8. ใส่ห่วงคุมกำเนิดแล้ว ต้องเปลี่ยนห่วงบ่อย ๆ ไหม?
ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ โดยการใส่ห่วงอนามัยแต่ละครั้ง จะสามารถคุมกำเนิดได้นาน 3 ปีขึ้นไป
9. ใส่ห่วงคุมกำเนิดจะทำให้ฝ่ายชายเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ จริงหรือไม่?
ฝ่ายชายอาจจะรู้สึกถึงปลายเชือกของห่วงอนามัยได้ แต่จะไม่รู้สึกถึงอุปกรณ์ และไม่ได้ทำให้เจ็บ ส่วนฝั่งสาว ๆ นั้น ถ้าใส่ห่วงอนามัยแล้วรู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ แสดงว่ามีบางอย่างที่ผิดปกติ เช่น ห่วงอนามัยเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม หรือมีอาการอักเสบ แนะนำให้ไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างตรงจุดค่ะ
10. ใส่ห่วงคุมกำเนิดจะทำให้มดลูกเน่าไหม?
ในกรณีที่ใส่ห่วงอนามัยโดยแพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ อาจเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูกได้ค่ะ
11. ใส่ห่วงคุมกำเนิดจะทำให้เป็นมะเร็งไหม?
การใส่ห่วงอนามัยอย่างถูกต้อง ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกค่ะ แต่เพื่อความมั่นใจ หลังจากที่ใส่ห่วงอนามัยแล้ว แนะนำให้ไปตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำค่ะ
12. ใส่ห่วงกำเนิดแล้วทำให้เลือดออกและปวดท้อง ถือว่าเป็นอันตรายไหม?
โดยปกติจะมีเลือดออกเล็กน้อยในช่วงแรกที่ใส่ห่วงอนามัย ซึ่งจะหายได้เองภายใน 5 วัน และรู้สึกปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ แต่ถ้าหากมีอาการปวดท้องมาก หรือเลือดออกติดต่อกันเป็นระยะเวลานานแนะนำให้รีบไปคุณหมอค่ะ
13. หลังถอดห่วงกำเนิดแล้ว สามารถตั้งครรภ์ได้ภายในกี่เดือน?
สามารถตั้งครรภ์ได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอเหมือนการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ
สรุปเรื่องการใส่ห่วงคุมกำเนิด
จะเห็นได้ว่า ห่วงคุมกำเนิดเป็นอีกหนึ่งวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ และสามารถคุมกำเนิดแบบชั่วคราวได้ยาวนาน ตั้งแต่ 3 - 10 ปี สาว ๆ คนไหนที่สนใจคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ กำลังมองหาคลินิกสูตินรีเวชใกล้ฉัน สามารถนัดหมายเพื่อเข้ามาปรึกษาคุณหมอที่แฮปปี้เบิร์ธคลินิกสาขาที่สะดวกได้เลยที่เบอร์โทรศัพท์ 081-442-9355 (ตามเวลาทำการคลินิก) และเฟสบุ๊กเพจ happybirth กับหมอชะเอม ได้เลยค่ะ
เราเปิดให้บริการ 2 สาขา ได้แก่ สาขารามคำแหง 26/1 และ สาขาลาดกระบัง 54 เราให้บริการใส่ห่วงอนามัยทั้งแบบชนิดที่ไม่มีฮอร์โมน และมีฮอร์โมน ดูแลโดยคุณหมอผู้หญิงและเจ้าหน้าที่ผู้หญิงในทุกขั้นตอน เพื่อความสบายใจและเป็นส่วนตัวมากที่สุดค่ะ นอกจากนี้ยังมีบริการตรวจสุขภาพผู้หญิงอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ตรวจภายใน ตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ฝากครรภ์ ตรวจดาวน์ซินโดรม ครบจบเรื่องการดูแลสุขภาพผู้หญิงทุกวัยในที่เดียว!
Comments