นอกจากการดูแลสุขภาพร่างกายของคุณแม่ในระหว่างที่ตั้งครรภ์แล้ว การดูแลสุขภาพหลังคลอดก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณแม่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อให้คุณแม่สามารถดูแลตัวเองหลังคลอดได้อย่างเหมาะสม สุขภาพร่างกาย และจิตใจ ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แฮปปี้เบิร์ธคลินิกจะพาไปเช็กลิสต์การดูแลตัวเองหลังคลอดสำหรับคุณแม่ทุกคนค่ะ ☺️
เช็กลิสต์การดูแลตัวเองหลังคลอด 3 อย่างสำหรับคุณแม่
การดูแลตัวเองหลังจากคลอดลูกเป็นสิ่งที่คุณแม่หลายคนอาจจะละเลย คุณแม่หลังคลอดบางคนอาจจะมัวแต่ดูแลลูกน้อยที่เพิ่งเกิด ลืมให้เวลาดูแลตนเอง ซึ่งอาจทำให้คุณแม่มีสุขภาพร่างกายที่แย่ลง จนในที่สุดทำให้ดูแลลูกน้อยได้อย่างไม่เต็มที่ หรือป่วยเป็นไข้หวัดจนแพร่ไปสู่ลูกน้อยได้ โดย 3 อย่างที่ต้องให้ความสำคัญในการดูแลตัวเองหลังคลอด มีดังนี้
1. เช็กอัพ ดูแลสุขภาพหลังคลอดกับคุณหมอ
หลังจากที่คุณแม่คลอดลูกแล้ว คุณแม่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องไปพบคุณหมออยู่นะคะ เพราะคุณหมอจะตรวจสุขภาพร่างกายของคุณแม่ พร้อมจ่ายยาบำรุง และให้คำแนะนำต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่กลับมาฟื้นตัวเป็นปกติได้เร็วขึ้น และเลี้ยงดูลูกน้อยอย่างเหมาะสม โดยทั่วไปสิ่งที่คุณแม่ต้องทำหลังคลอดบุตร มีดังนี้
มาพบคุณหมอสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจดูแผลคลอด หรือแผลผ่าคลอด ซึ่งสามารถไปดูแผลที่โรงพยาบาล หรือมาตรวจที่คลินิกก็ได้ ถ้าเดินทางไม่สะดวก ก็มาคลินิกที่ฝากท้อง หรือ คลินิกสูตินรีเวชใกล้บ้านได้เลย
ตรวจภายใน และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ผู้หญิงทุกคนต้องตรวจภายในเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว คุณแม่ที่เพิ่งคลอดก็จะครบรอบที่ต้องตรวจภายในประจำปีพอดี
ปรึกษาสูตินรีแพทย์เรื่องการคุมกำเนิดที่เหมาะสม การคุมกำเนิดมีหลายวิธี แต่คุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรจะไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉีด 3 เดือน เพราะจะมีผลกับน้ำนม ทำให้น้ำนมแห้งได้ค่ะ
ปรึกษาคุณหมอเรื่องการดูแลทารกแรกเกิด ตั้งแต่การให้น้ำนม รวมถึงการรับวัคซีนที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น ตัวลูกน้อย หรือคุณแม่เอง โดยคุณแม่จะได้รับวัคซีนบาดทะยักเข็มที่สาม (ในรายที่ยังได้รับไม่ครบ) และได้รับยาบำรุงหลังคลอดด้วยค่ะ
ทั้งนี้รายการต่างๆ อาจจะแตกต่างกันในคุณแม่แต่ละคน แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอ และอย่าลืมนำสมุดฝากครรภ์สีชมพูมาด้วยนะคะ
2. สังเกต ดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองอยู่เสมอ
นอกจากการไปตรวจหลังคลอดกับคุณหมอแล้ว หลังจากที่กลับมาพักที่บ้าน คุณแม่จะต้องดูแลสุขภาพหลังคลอดของตนเองในแต่ละวันให้เหมาะสมด้วย โดยเรื่องสำคัญที่ต้องสังเกตและดูแล จะมีอยู่ 6 เรื่องหลัก ๆ ดังนี้ค่ะ
1. แผลคลอด
ในกรณีที่คลอดธรรมชาติ คุณหมอจะเย็บแผลด้วยไหมละลาย ซึ่งหลังจากคลอดไปประมาณ 7 วัน แผลก็จะหายดี อย่างไรก็ตาม คุณแม่อาจจะรู้สึกเจ็บที่แผลฝีเย็บประมาณ 2 - 3 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งเป็นอาการปกติที่พบได้ทั่วไปค่ะ
สำหรับวิธีการดูแลแผลฝีเย็บนั้น ให้ทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่เหลว โดยทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อที่จะได้ไม่นำเชื้อโรคจากทวารหนักมาสู่แผลได้ค่ะ และหลังจากทำความเสร็จแล้วจะต้องซับด้วยผ้าสะอาดให้แห้งทันที และควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ ด้วยค่ะ
2. น้ำคาวปลา
น้ำคาวปลาก็คือน้ำคร่ำที่ปนมากับเลือดที่ออกจากแผลในมดลูก โดยจะไหลออกมาทางช่องคลอดค่ะ โดยลักษณะของน้ำคาวปลาที่ปกตินั้น ในช่วง 3 วันแรกจะมีสีแดงเข้ม และหลังจากนั้นสีจะค่อย ๆ จางลงจนคล้ายกับสีน้ำล้างหน้า แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นมูกสีเหลืองตามปกติภายใน 2 - 3 สัปดาห์ค่ะ
อย่างไรก็ตาม หากน้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น หรือมีสีแดงสดตลอด 15 วันหลังคลอด ถือว่าเป็นลักษณะของน้ำคาวปลาที่ผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุดค่ะ
3. มดลูกเข้าอู่
ในระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์ มดลูกจะมีการขยายใหญ่ขึ้นกว่าปกติ แต่หลังจากที่คลอดลูกแล้ว มดลูกก็จะหดตัวลงจนมีขนาดปกติ และกลับเข้าสู่ตำแหน่งในอุ้งเชิงกราน เราเรียกกระบวนการนี้ว่า “มดลูกเข้าอู่” ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ค่ะ โดยในระหว่างที่มดลูกเข้าอู่คุณแม่อาจจะมีอาการปวดมดลูกได้ แต่สามารถบรรเทาอาการด้วยยาแก้ปวดได้ค่ะ
4. เต้านมและน้ำนม
หลังจากที่คลอดลูกแล้ว โดยทั่วไปคุณแม่จะมีขนาดเต้านมใหญ่ขึ้น และมีอาการคัดตึงเต้านมในวันที่ 2 และ 3 ซึ่งเกิดจากการที่ต่อมน้ำนมเริ่มผลิตน้ำนม
ในระหว่างนั้น เวลาที่คุณแม่อาบน้ำ จะต้องงดฟอกสบู่บริเวณลานนมเพื่อให้น้ำมันธรรมชาติที่ผิวสร้างขึ้นยังคงอยู่ ซึ่งจะช่วยลดความเจ็บขณะที่ลูกดูดนมได้มาก และควรพยายามให้ลูกเข้าเต้า และดูดนมบ่อย ๆ เพื่อกระตุ้นให้สร้างน้ำนมได้เร็วขึ้นค่ะ
และถ้าหากคุณแม่มีน้ำนมไหลแล้ว ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้านมก่อนให้นมลูก เพื่อกระตุ้นให้การไหลเวียนเลือดบริเวณเต้านมดีขึ้น น้ำนมไหลได้ดีขึ้น และบรรเทาอาการคัดตึงเต้านมได้ค่ะ และหลังจากที่ให้นมลูกแล้ว ควรใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกทำความสะอาดหัวนมและลานนมทุกครั้งค่ะ
5. การรับประทานอาหาร
คุณแม่ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เหมือนกับช่วงที่อยู่ในระยะการตั้งครรภ์ โดยจะต้องเน้นการรับประทานผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ นม เพื่อช่วยให้เซลล์ในร่างกายซ่อมแซมและฟื้นฟูได้เร็วขึ้น และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทแป้ง ไขมันสูง ของหมักดอง ชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่ะ
ในส่วนของการรับประทานยารักษาโรคนั้น จะต้องปรึกษาคุณหมอทุกครั้งก่อนใช้ยา เพราะยาบางชนิดสามารถหลั่งออกทางน้ำนม ซึ่งอาจทำให้ลูกน้อยได้รับยาและทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ค่ะ
6. การพักผ่อน
หลังจากที่คุณหมออนุญาตให้คุณแม่กลับบ้านได้แล้ว คุณพ่อและคุณแม่จะต้องปรับตัวกับวิถีชีวิตใหม่ โดยเฉพาะการดูแลลูกน้อยที่หลับ ๆ ตื่น ๆ และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้คุณแม่เหนื่อยล้า หรืออ่อนเพลียจนเกินไป คุณพ่อและคุณแม่จะต้องมีการจัดสรรเวลาในการดูแลลูกน้อย และช่วงระยะเวลาที่คุณแม่จะได้พักผ่อนให้เพียงพอค่ะ
3. ดูแลสุขภาพจิต อารมณ์ และจิตใจ
หลังจากที่คลอดลูกใหม่ ๆ ระดับฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งคุณแม่ยังต้องรับมือกับสิ่งต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น อาการอ่อนเพลียจากการคลอด ความกังวลใจกับสรีระร่างกายของตนเอง หรือการเลี้ยงลูกน้อยที่หลับ ๆ ตื่น ๆ ตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ รู้สึกเครียด หรือหงุดหงิด จนอาจนำไปสู่การเป็น “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” ได้ค่ะ
ถ้าหากคุณแม่มีอาการเหล่านี้
อารมณ์แปรปรวน หรือวิตกกังวลอย่างหนัก
รู้สึกว่าตนเองเป็นแม่ที่ดีไม่พอ หรือไม่รู้สึกผูกพันกับบุตร
ร้องไห้บ่อย หรือรู้สึกสิ้นหวังจนคิดถึงเรื่องการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายบุตร หรืออยากฆ่าตัวตาย
ไม่อยากรับประทานอาหาร หรือรับประทานอาหารมากผิดปกติ
รู้สึกอ่อนล้า ไม่มีความสุขกับเรื่องที่เคยชอบ
นอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากเกินไป
รู้สึกสับสน ไม่มีสมาธิ หรือแยกตัวจากคนในครอบครัว
นั่นอาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ แนะนำให้คุณแม่รีบไปปรึกษาสูตินรีแพทย์ที่ให้การดูแลโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้รับการดูแลรักษาอย่าทันท่วงที อีกทั้งคุณหมอจะให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองหลังคลอดอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่หายจากการเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ค่ะ
สรุปค่ะ
จะเห็นได้เลยว่าสามารถทำตามได้ไม่ยากเลย คุณแม่ตั้งครรภ์ท่านใดที่กำลังจะคลอดบุตรเร็ว ๆ นี้ ก็อย่าลืมวางแผนให้ดี รับรองว่าการดูแลสุขภาพหลังคลอดและดูแลลูกน้อยจะต้องผ่านไปได้อย่างราบรื่นแน่นอน!
และสิ่งสุดท้ายที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการดูแลโดยสูตินรีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ นอกจากการดูแลสุขภาพด้วยตัวเองในเบื้องต้นแล้ว คุณแม่ทุกคนอย่าลืมที่จะไปตรวจหลังคลอด ตรวจภายใน ตรวจมะเร็งปากมดลูก รวมถึงวางแผนการคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การฉีดยาคุม ฝังยาคุม หรือใส่ห่วงคุมกำเนิดด้วยนะคะ เพื่อการดูแลสุขภาพหลังคลอดอย่างครบถ้วนและครอบคลุมที่สุดค่ะ
Comentarios