top of page
  • รูปภาพนักเขียนพญ. ฐิติพรรณ ชยวงศ์รุ่งเรือง (หมอชะเอม)

โรคซิฟิลิส (Syphilis) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ควรมองข้าม

อัปเดตเมื่อ 28 มี.ค.


โรคซิฟิลิส (Syphilis) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ควรมองข้าม

หากพูดถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่น่ากลัว สามารถทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิตได้ “โรคซิฟิลิส” จะต้องเป็นหนึ่งในโรคที่หลาย ๆ คนนึกถึงอย่างแน่นอน เพราะเป็นโรคที่เมื่อผ่านพ้นระยะที่ 1 และ 2 ไปแล้ว จะเข้าสู่ระยะแฝงที่ไม่มีอาการแสดงใด ๆ ทำให้คนที่เป็นโรคนี้ไม่รู้ตัวว่าเป็น กว่าจะรู้ตัวก็เข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว


เพื่อให้สาว ๆ สามารถรับมือกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นี้ได้อย่างเหมาะสม แฮปปี้เบิร์ธคลินิกจะพาไปรู้จักกับโรคซิฟิลิสเอง สาว ๆ คนไหนที่สงสัยว่า โรคซิฟิลิส อาการผู้หญิงเป็นอย่างไร? เกิดจากสาเหตุใด? จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น? หาคำตอบที่บทความนี้ได้เลยค่ะ


บทความนี้ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ฐิติพรรณ ​ชยวงศ์รุ่งเรือง (คุณหมอชะเอม)


โรคซิฟิลิส (Syphilis) คืออะไร?

โรคซิฟิลิส (Syphilis) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลดินัม (Treponema pallidum) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็น ทางปาก ทางช่องคลอด หรือทางทวารหนัก จึงทำให้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Diseases) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “โรค STDs”


โรคซิฟิลิสนั้น เป็นโรคที่มีความอันตรายมาก ๆ ค่ะ เพราะเมื่อเป็นแล้ว ไม่ทำการรักษา แผลริมแข็งที่เกิดขึ้นในระยะที่ 1 และ 2 จะหายไป และเข้าสู่ระยะแฝง ไม่มีอาการแสดง ๆ ใด ทำให้คนที่เป็นโรคนี้ไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรคแล้ว ซึ่งจะมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมามากมาย เช่น กระดูกอักเสบ ตาบอด หูหนวก สมองพิการ เส้นเลือดใหญ่ที่หัวใจโป่งพอง และทำให้เสียชีวิตได้ค่ะ


โรคซิฟิลิสเกิดจากสาเหตุใด?

โรคซิฟิลิส มีสาเหตุมากากการติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้ผ่านทางรอยขีดข่วน หรือบาดแผลเล็ก ๆ บนผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้ค่ะ


1. เป็นมาตั้งแต่กำเนิด (Congenital Syphilis)

เชื้อซิฟิลิสสามารถติดต่อผ่านทางแม่สู่ลูกในระหว่างการตั้งครรภ์ หรือระหว่างคลอดได้ค่ะ เราจะเรียกการติดเชื้อนี้ว่า “โรคติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิด” จัดเป็นการติดเชื้อรุนแรงและอันตรายต่อทารกอย่างมาก เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์ หรือแรกเกิด หรือทำให้พิการได้ค่ะ


เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ว่าที่คุณแม่และคุณพ่อทุกคนที่กำลังวางแผนจะมีลูก จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เพื่อคัดกรองความเสี่ยงเหล่านี้ให้หมด ถ้าตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ คุณหมอก็จะรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้ค่ะ


2. เกิดจากการติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์

การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด หรือทางทวารหนัก รวมไปถึงการทำออรัลเซ็กส์ (Oral sex) และการจูบกับผู้ที่ติดเชื้อโดยที่มีแผลอยู่ในช่องปาก ล้วนสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum ได้ทั้งหมดค่ะ


3. เกิดจากการติดต่อผ่านช่องทางอื่น ๆ

การสัมผัสแผลผู้ป่วยโดยตรง หรือรับเลือดจากผู้ติดเชื้อ ก็สามารถทำให้เป็นโรคซิฟิลิสได้เช่นกันค่ะ


อาการโรคซิฟิลิสเป็นแบบไหน มีกี่ระยะ?

อาการของโรคซิฟิลิสจะมีทั้งหมด 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ระยะแฝง และระยะที่ 3 ซึ่งแต่ละระยะจะมีอาการแตกต่างกัน โดยอาจแสดงอาการเรียงไปตามระยะ หรือมีการสลับ หรือมีระยะที่ทับซ้อนกันก็ได้ค่ะ



โรคซิฟิลิสอาการผู้หญิงเป็นแบบไหน

อาการซิฟิลิสระยะที่ 1 (Primary Syphilis)


  • เรียกว่า “ระยะเป็นแผล” จะแสดงอาการหลังจากที่ได้รับเชื้อไปแล้ว 3 สัปดาห์

  • จะเป็นแผลริมแข็ง (Chancre) มีลักษณะเป็นแผลเล็ก ๆ สีแดง และขอบนูนแข็ง ๆ ไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด

  • อาจเกิดแค่แผลเดียว หรือหลายแผลก็ได้

  • สามารถพบได้ที่บริเวณช่องคลอด ทวารหนัก องคชาต และในปาก


อาการซิฟิลิสระยะที่ 2 (Secondary Syphilis)

  • เรียกว่า “ระยะออกดอก” จะแสดงอาการหลังจากที่มีแผลริมแข็งไปแล้ว 1 เดือน หรือเร็วกว่านั้น

  • จะเกิดเป็นผื่นขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้า เป็นผื่นจาง ๆ แต่ไม่ได้ทำให้เกิดอาการคัน

  • ในบางรายอาจมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ หรือต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วยได้


อาการซิฟิลิสระยะแฝง (Latent Stage)

  • ถ้าหากเป็นระยะที่ 1 และ 2 แล้วผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษา อาการต่าง ๆ จะหายไปราวกับว่าไม่เคยเป็นโรคอะไรมาก่อน เราเรียกระยะนี้ว่า “ระยะแฝง” ค่ะ

  • เชื้อซิฟิลิสจะแฝงอยู่ในร่างกายของเราและดำเนินโรคต่อไปในร่างกายโดยที่ไม่แสดงอาการใด ๆ

  • จัดเป็นระยะที่ทำให้โรคซิฟิลิสกลายเป็นโรคที่น่ากลัว เพราะกว่าจะรู้ตัว เชื้อก็ลุกลามเป็นวงกว้างและเข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้วค่ะ


อาการซิฟิลิสระยะที่ 3 (Tertiary Stage)

  • เรียกว่า “ระยะสุดท้าย” อาจแสดงอาการภายในไม่กี่ปี ไปจนถึง 10-20 ปีเลยก็ได้ค่ะ

  • การติดเชื้อในระยะสุดท้าย จะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อสมอง ระบบประสาท ตา หัวใจ เส้นเลือด ตับ กระดูกและข้อต่อได้

  • อาการของระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ ความสามารถในการมองเห็นลดลง มีภาวะสมองเสื่อม ตาบอด หูหนวก อัมพาต ชัก และเสียชีวิตได้ค่ะ


จะรู้ได้ไงว่าเป็นซิฟิลิส?


ถ้าหากสาว ๆ มีอาการแสดงของโรคซิฟิลิส หรือเป็นคนที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถนัดหมายเข้ามาตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่แฮปปี้เบิร์ธคลินิกได้เลยค่ะ โดยเราจะสามารถตรวจวินิจฉัยโรคซิฟิลิสระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ได้ผ่านการตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกัน หรือเก็บตัวอย่างเซลล์บนผิวหนังไปส่องกล้องดูได้ค่ะ


อย่างไรก็ตาม ถ้าเข้าข่ายซิฟิลิสระยะแฝงเป็นต้นไปแล้ว แพทย์อาจให้ตรวจน้ำไขสันหลังเพื่อยืนยันโรคอีกครั้งหนึ่งค่ะ


โรคซิฟิลิสมีวิธีรักษาอย่างไร?

โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการตรวจและรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนั้นสาว ๆ ไม่ต้องกังวลไปก่อนเลยค่ะ ถ้าหากมีอาการที่เข้าข่าย หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็สามารถนัดหมายเข้ามาตรวจกับคุณหมอที่แฮปปี้เบิร์ธคลินิกได้เลย


สำหรับแนวทางการรักษาของโรคซิฟิลิส จะรักษาด้วยการฉีดยาฆ่าเชื้อเพนิซิลลิน (Peniclilin) ขนาดสูง โดยจำนวนเข็มจะแตกต่างกันไปตามระยะเวลาของการติดเชื้อ หากติดเชื้อในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี อาจฉีดแค่ 1 เข็มก็หยุดการลุกลามของโรคได้ แต่ถ้านานกว่านั้น อาจต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยจะฉีดทุก ๆ สัปดาห์ค่ะ


หลังจากที่รักษาเสร็จแล้ว แพทย์จะนัดตรวจเลือดหลังการรักษา 3 เดือน 6 เดือน และตรวจเลือดซ้ำเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจติดตามอาการและยืนยันว่าหายขาดแน่นอนแล้วค่ะ ซึ่งผู้เข้ารับการรักษาจะต้องงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าค่าผลตรวจเลือดจะเป็นลบ และต้องสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งค่ะ


“แฮปปี้เบิร์ธคลินิก ให้บริการตรวจและรักษาโรคซิฟิลิสเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น

สบายใจ และเป็นส่วนตัวกว่า สำหรับผู้หญิงทุกคน”


โรคซิฟิลิสมีวิธีป้องกันอย่างไร?

ในปัจจุบัน โรคซิฟิลิสยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค วิธีป้องกันที่ดีที่สุดจึงเป็นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ยกตัวอย่างเช่น 


  • ไม่สัมผัสบาดแผล หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น 

  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ งดการจูบปาก หรือทำออรัลเซ็กส์กับคู่รักข้ามคืน

  • เข้ารับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำค่ะ

  • ในคุณแม่ตั้งครรภ์ หรือว่าที่คุณแม่คุณพ่อที่กำลังวางแผนจะมีบุตร จะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เพื่อตรวจหาเชื้อซิฟิลิสด้วยค่ะ


รวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคซิฟิลิส

เพื่อให้สาว ๆ เข้าใจเกี่ยวกับโรคซิฟิลิสมากขึ้น เราได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคซิฟิลิสมาฝาก ใครที่มีข้อสงสัยอยู่ สามารถดูคำถามและคำตอบได้ที่นี่เลย



รวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคซิฟิลิส

1. โรคซิฟิลิส แสดงอาการภายในกี่วัน?

อาการระยะที่ 1 หรือ แผลริมแข็ง จะแสดงอาการภายใน 3 สัปดาห์หลังจากที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าไปแล้วค่ะ


2. เชื้อซิฟิลิส สามารถหายเองได้ไหม?

โรคซิฟิลิสไม่สามารถหายได้เอง ถึงแม้ว่าจะหายจากแผลริมแข็งและผื่นจนไม่มีอาการแสดงอะไรแล้ว เชื้อซิฟิลิสจะยังคงแฝงอยู่ในร่างกายและดำเนินโรคต่ออยู่ ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ทำการรักษา โรคซิฟิลิสก็จะเข้าสู่ระยะสุดท้ายและทำให้เสียชีวิตได้ค่ะ


3. คนที่เคยเป็นซิฟิลิสสามารถบริจาคเลือดได้ไหม?

ถึงแม้ว่าจะรักษาจนหายดีแล้ว ก็ไม่สามารถบริจาคเลือดได้ค่ะ


4. เคยติดเชื้อซิฟิลิส สามารถมีลูกได้ไหม?

ถ้ารักษาจนหายดี เข้ารับการตรวจผลเลือดแล้วค่าเป็นลบ ก็สามารถมีลูกได้ค่ะ


5. โรคซิฟิลิสในผู้หญิงและผู้ชายมีความแตกต่างกันอย่างไร?

โรคซิฟิลิสในผู้หญิงและผู้ชายจะมีอาการเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันตรงตำแหน่งแผลริมแข็งที่เกิดขึ้น โดยในเพศชาย อาจเกิดแผลริมแข็งที่บริเวณปลาย หรือลำอวัยวะเพศ ในขณะที่ผู้หญิง แผลริมแข็งอาจเกิดในช่องคลอด หรือบริเวณทวารหนักก็ได้ค่ะ


6. รักษาโรคซิฟิลิสหายแล้ว กลับมาเป็นอีกได้ไหม?

ถ้าหากได้รับเชื้ออีกครั้ง ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกค่ะ


7.  โรคซิฟิลิสกับโรคเอดส์เหมือนกันไหม?

ไม่เหมือนกันค่ะ โรคซิฟิลิสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum และสามารถรักษาให้หายขาดได้ ในขณะที่โรคเอดส์ (AIDS) จะเป็นอาการป่วยระยะสุดท้ายของผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม จนทำให้เข้าสู่ระยะท้าย ๆ


โดยโรคเอดส์ จะเป็นภาวะที่เชื้อไวรัสเอชไอวีเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวจนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อต่าง ๆ และทำให้เกิดโรคติดเชื้ออื่น ๆ ตามมา เช่น วัณโรค ปอดบวม หรือเชื้อราขึ้นสมอง จนทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุดค่ะ


8. เป็นโรคซิฟิลิสทำให้เสียชีวิตได้ไหม?

ในกรณีที่ไม่ได้รับการรักษา และปล่อยให้โรคเข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว โรคซิฟิลิสสามารถทำให้เสียชีวิตได้ค่ะ



สรุปเรื่องโรคซิฟิลิส (Syphilis)


สรุปเรื่องโรคซิฟิลิส (Syphilis)

จะเห็นได้ว่า โรคซิฟิลิสเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่ถึงแม้จะดูน่ากลัว แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากสาว ๆ อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือมีอาการเข้าข่ายโรคซิฟิลิสอย่างแผลริมแข็ง หรือผื่นตามร่างกาย อย่าลืมที่จะเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพื่อความมั่นใจค่ะ โดยที่แฮปปี้เบิร์ธคลินิก เรามีบริการตรวจและรักษาโรคซิฟิลิสสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ สามารถจองคิวออนไลน์ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081-442-9355 (ตามเวลาทำการคลินิก) และเฟสบุ๊กเพจ happybirth กับหมอชะเอม ได้เลย เรามีเจ้าหน้าที่ผู้หญิง และคุณหมอผู้หญิงให้การดูแลในทุกขั้นตอน เพื่อช่วยให้การตรวจสุขภาพภายในของสาว ๆ เป็นเรื่องที่สบายใจและเป็นส่วนตัวที่สุดค่ะ




bottom of page